ประเพณี “การตานตุง”

“ตุง” ในภาษาถิ่นล้านนา ซึ่งภาษาไทยกลาง เรียกว่า “ธง” ตุงเป็นสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อ ใช้ในงานพิธีทางพุทธศาสนา ทั้งในงานมงคลและอวมงคลต่างๆ โดยมีขนาดรูปทรงและการใช้วัสดุตกแต่ง ที่แตกต่างกันไป ตามความเชื่อและพิธีกรรม ตลอดจน ตามความนิยมในแต่ละท้องถิ่นด้วย

ซึ่งจุดประสงค์ ของการทำตุงและการตานตุงในล้านนาก็คือ การทำถวายเป็นพุทธบูชา ชาวล้านนาถือว่าเป็นการทำบุญอุทิศ ให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือถวายเพื่อเป็นปัจจัยส่งกุศล ให้แก่ตนไปในชาติหน้า ด้วยความเชื่อที่ว่า เมื่อตายไปแล้วก็จะได้เกาะยึดชายตุงขึ้นสวรรค์พ้นจากขุมนรก วันที่ถวายตุงนั้น นิยมกระทำในวันพญาวัน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ “การตานตุง” จึงกลายเป็น สัญลักษณ์แห่งล้านนา

“ตุง” ของล้านนา มีลักษณะเป็นแผ่นวัตถุ ส่วนปลายแขวนติดกับเสาห้อยเป็นแผ่นยาวลงมา วัสดุที่ใช้ทำตุงนั้นมีหลายอย่างเช่น ไม้ สังกะสี ผ้า กระดาษ ใบลาน เป็นต้น

ตุง เป็นสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในงานพิธีทางพุทธศาสนา โดยมีขนาด รูปร่าง และ รายละเอียดด้านวัสดุตกแต่งแตกต่างกันไป ตามความเชื่อและ พิธีกรรมตลอดจนตามความนิยมในแต่ละท้องถิ่นด้วย

วัตถุประสงค์ของการทำตุง
1. เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ หมายถึง ธงที่เป็นเครื่องหมายพวกหรือเผ่าต่างๆกำหนดสีสัน ให้รู้จักจำง่ายเหมือนกับ ชาติทั้งหลายในโลก ที่ใช้ธงเป็นเครื่องแทนปรัชญาหรือความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง
2. เพื่อใช้เป็นเครื่องพิธี หมายถึง การนำตุ งหรือช่อธงในพิธีเครื่องบูชาเซ่นสรวง อย่างเช่นการบูชาท้าวจตุโลกบาลเป็นต้น หากไม่มีช่อธุงหรือธง ถือว่าพิธีไม่ครบถ้วน อันเป็นข้อบกพร่อง ทำให้พิธีเสียหรือไม่สมบูรณ์
3. เพื่อเป็นศักดิ์ศรีแก่เทพเจ้า หมายถึง เทพที่สำคัญทั้งหลาย เช่น พระอินทร์ พระนารายณ์ มีช่อธงเป็นเครื่องหมาย เช่นพระอินทร์มีธงสีเขียว เป็นต้น แม้สมมติเทพ เช่น พระมหากษัตริย์ ก็มีธงเป็นเครื่องหมายแห่งยศ และศักดิ์ศรี
4. เพื่อเป็นเกียรติแก่บุคคล หมายถึง การมีธุงหรือมีช่อประจำอยู่ เช่นเหล่ากองทหาร ต่างมีธงชัยเฉลิมพลอัน เป็นเครื่องหมายแห่งเกียรติยศของกองทหารนั้นทำให้ทหารภูมิใจในความเป็นทหารของตน

Scroll to Top