ความเชื่อ “พระภูมิเจ้าที่”

คนไทยเรานับตั้งแต่อดีตมีความเชื่อว่าตาม ดิน น้ำ ภูเขา ต้นไม้ และอาคารบ้านเรือน มีผีเจ้าที่เจ้าทาง ปกปักรักษาอยู่ บวกกับความเชื่อทางศาสนาพุทธ และพราหมณ์ฮินดู ทำให้เกิดการพัฒนาพิธีการอัญเชิญผีเจ้าที่เจ้าทาง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาประทับในศาล (ศาลพระภูมิ,ศาลเจ้าที่) เพื่อปกป้องคุ้มครองดูแล รักษาสถานที่บ้านเรือนที่อยู่อาศัย ให้มีความเป็นสิริมงคล เจริญก้าวหน้าในทุกสถานจึงนิยมตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่

ในวันที่ ปลูกสร้างบ้านเรือนใหม่ เจ้าพิธี ผู้ทำพิธีกรรม ตั้งศาลพระภูมินั้น เป็นได้ทั้งพระ, พราหมณ์, หรือฆราวาสที่ต้องเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม ตามคติ ความเชื่อ จากพิธีกรรมพื้นบ้านแต่เดิม มีความเชื่อทางพุทธศาสนา และพราหมณ์ฮินดู เข้ามาผสมผสาน และนำไปพัฒนาเป็นพิธีกรรมพื้นบ้าน เพื่อให้เกิดความขลัง และศักดิ์สิทธิ์ขึ้น แล้วเปลี่ยนคำนำหน้าใหม่ ให้ดูดีมีมงคลขึ้นจากคำว่า “ผี” ที่ดีมีคุณธรรม ให้เป็นพระ เช่น พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง หรือพระภูมิ เพราะนับถือว่าเป็นนั่นแม้จะเป็น ผีแต่ก็เป็น ผีระดับชั้นสูง

เรื่องความเชื่อ และการบูชาการตั้งศาลพระภูมิ นำแนวคิดมาจากศาสนาพราหมณ์ฮินดูว่า พระอิศวร หรือพระศิวะทรงมีวิมานประทับอยู่ บนยอดเขาพระสุเมรุเปรียบประดุจ มณฑลจักรวาลวิมานของศาลพระภูมิ จึงต้องมีเสาเดียว เปรียบประดุจเขาพระสุเมรุมาศวิมาน ของพระอิศวร พระภูมิถือเป็นเทวดาชั้นหนึ่งเหมือนกัน หากในความเชื่อของทางพระพุทธศาสนาก็จะเชื่อว่า พระภูมิเป็นเทวดาที่เรียกว่า “ภุมมะเทวดา” ที่อาศัยอยู่ตามเนินดิน หรือซุ้มประตู หรือ “รุกขเทวดา” ที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้ ดังนั้นการตั้งศาลพระภูมิตามคติบ้านเรือน ของคนไทยจึงมี “เสาเดียว” ส่วนศาลเจ้าที่นั้นเปรียบเสมือน บ้านเรือนชาวบ้านธรรมดาจึงมี 4 เสาเทียบกันแล้ว เหมือนการจำแนก การปกครองของเทพ ให้เป็นลำดับส่วนลงไปเหมือน กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ส่วนศาลที่อยู่ตามโคนต้นไม้,ทางสามแพ่งเป็นที่สิงสถิต ของวิญญาณเร่ร่อนพเนจร จึงนิยมสร้างศาลให้มี 6 เสา หรือ 8 เสา แทรกตรงนี้ไว้สักนิดหนึ่ง กรณีนี้การจำแนกแบบนี้ จุดประสงค์อีกประการ อาจจะเป็นการง่ายต่อการจำแนกชนิดของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องการจะบูชา ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น และแบ่งระดับของชั้นเทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีความแตกต่างกัน

นอกจากนี้ หากลองสังเกตดูการประกอบพิธีกรรม เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ จะต้องมีการกระทำอย่างถูกต้องตามแบบแผน และขั้นตอนให้เคร่งครัด เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล แก่ผู้อยู่อาศัย การบวงสรวงเซ่นสังเวย และการตั้งศาลพระภูมิจะกระทำเมื่อปลูกบ้านใหม่หรือย้ายที่อยู่ เพราะเชื่อว่า ขั้นตอนการตั้งศาลจะเป็น “การขับไล่ สิ่งอัปมงคลทั้งหลายให้ออกไปจากบ้าน แล้วจึงอัญเชิญเทวดา หรือพระภูมิมาสถิติที่ศาลพระภูมิเพื่อปกป้องคุ้มครองเจ้าบ้าน และบริวารให้อยู่เย็นเป็นสุข มีความเจริญรุ่งเรือง” เพราะถือว่าพระภูมิเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งของบ้านที่คนในบ้าน ต้องให้ความเคารพ เรื่องนี้เป็นเรื่องของความเชื่อที่มีมาแต่โบราณครับและทำกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษแล้วถือเป็นจารีตประเพณีอย่างหนึ่งก็ว่าได้ อีกอย่างที่นิยมกราบไหว้บูชาก็คือ ผีบ้านผีเรือน

ทิศทาง การหันหน้าศาลพระภูมิสู่ทิศมงคล ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ทิศอีสาน เป็นทิศที่ดีที่สุด ทิศตะวันออก หรือ ทิศบูรพา เป็นทิศที่ดีอันดับ 2

ส่วนประกอบสำคัญของศาลพระภูมิ จะเหว็ดศาลพระภูมิ หมายถึง รูปเทพารักษ์ ที่ประดิษฐานไว้ในศาลพระภูมิ จะมีลักษณะเป็นรูปพระภูมิ อยู่ในแผ่นคล้ายแผ่นเสมา มือขวาถือพระขรรค์ มือซ้ายถือถุงเงินหรือสมุด(หนังสือ) และการปลุกเสกจะเหว็ดให้เป็นองค์พระภูมิ มีดังนี้ บรรจุธาตุทั้ง 6 คือ บรรจุพระพุทธคุณ, บรรจุพระธรรมคุณ,บรรจุพระสังฆคุณ ตลอดเทวคุณ และวิญญาณธาตุเข้าไปในจะเหว็ด พอจบพิธีจากที่เรียกว่า "จะเหว็ด" เมื่อปลุกเสกแล้วก็จะเรียกว่า "พระภูมิ" บริวารของพระภูมิจะมี ตุ๊กตาชาย-หญิง อย่างละ 1 คู่ ตุ๊กตาช้าง-ม้า อย่างละ 1 คู่ ละครยก 2 โรง

อย่างไรก็ ขอทิ้งท้ายไว้สักนิดสำหรับใครที่คิด จะตั้งศาลพระ ภูมิไว้ในบ้าน หากตั้งศาลพระภูมิอย่างถูกหลักตามนี้แล้ว จะช่วยส่งผลให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่สถิตอยู่ในศาลพระภูมิ ปกป้องรักษาคุ้มภัยคนที่อยู่ในบ้านได้เป็นอย่างดี

ขอบคุณข้อมูลจาก
www.thaicontractors.com /
http://horoscope.sanook.com/109813/

Scroll to Top