ความเชื่อเรื่องการสักบนร่างกาย

การสักลวดลาย เลขอักขระต่างๆ ลงบนผิวหนัง หรือที่เรียกกันว่าการสักลายหรือสักยันต์ เป็นความเชื่อที่อยู่คู่กับสังคมไทย มาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย หากแต่วัตถุประสงค์ของการสักลวดลายต่างๆ ลงบนผิวหนังก็มาผันแปร ไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จากเดิมเพื่อใช้แสดงกรม กองหรือสังกัดของชายไทย ที่รับราชการสนองคุณแผ่นดิน มาเป็นการสักเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ก่อนมาสู่ยุคของการสักลวดลาย ที่เป็นงานศิลปะบนเรือนร่าง หรือเพื่อความสวยงามในปัจจุบันแทน

ความหมายของการสัก คือการนำเหล็กแหลมจุ่มน้ำหมึก (เรียกสักหมึก) หรือน้ำมัน (เรียกสักน้ำมัน) แล้วแทงลงที่ผิวหนัง เป็นให้เป็นลวดลาย อักขระ เครื่องหมาย เลขยันต์ต่างๆ และคนที่ทำหน้าที่สักยันต์ให้ ก็จะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถ ชำนาญในการสักที่สืบทอดวิชาความรู้ต่อๆ กันมา ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพระสงฆ์ หรือผู้อาวุโสที่ร่ำเรียวิชาสักยันต์มา

ปัจจุบันเครื่องไม้เครื่องมือ ในการสักมีการพัฒนารูปแบบไปไกลมา จากเหล็กปลายแหลมแท่งยาวๆ กลายเป็นเครื่องมือ ที่มีหัวเข็มขนาดเล็กแทน หมึกที่ใช้ก็เป็นหมึกสีต่างๆ ส่วนคนที่ทำหน้าที่สัก ถูกเรียกในฐานะช่างสัก มากกว่าครูบาจารย์ในการสัก

การสักยันต์ในสมัยก่อน มีอยู่ ๒ รูปแบบด้วยกัน คือ หนึ่ง มีไว้เพื่อเป็นเครื่องหมาย หรือหลักฐานแสดงตัว เช่น การสักเลกที่ข้อมือของชายหนุ่มเพื่อ เป็นการขึ้นทะเบียนตามสังกัด กรมกองต่างๆ ซึ่งมีหลักฐานว่าการสักเลกนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. ๑๙๙๑ – พ.ศ. ๒๐๓๑)

สอง เป็นการสักตามความเชื่อ ความศรัทธา ขวัญกำลังใจ เสน่ห์ เมตตามหานิยม แคล้วคลาด ป้องกันภยันอันตรายต่างๆ แพร่หลายในหมู่ชาวบ้านทั่วไปที่นิยมสักเลกยันต์ต่างๆ ที่หน้าอก แผ่นหลัง หรือแขน โดยจะมีการประกอบพิธีควบคู่ไปด้วย เช่น ก่อนทำการสัก จะต้องทำพิธีไหว้ครู มีการร่ายเวทมนต์คาถา ลวดลายที่ใช้สักมีให้เลือก แล้วแต่สำนักสัก ด้วยเหตนี้การสักประเภทนี้แต่ละคนก็จะมีลวดลายไม่เหมือนกัน

ปัจจุบันความเชื่อ ความศรัทธาในการสักแม้จะมีอยู่ แต่ก็ลดน้อยถอยลงไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากขาดผู้ชำนาญ ผู้สักที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญแท้จริง ประกอบกับครูบาอาจารย์สักรุ่นเก่าๆ บางท่านก็ไม่ได้ถ่ายทอด วิชาความรู้ให้กับศิษย์รุ่นหลัง ทำให้ความรู้ความสามารถสูญหายตายไปพร้อมกับครูบาอาจารย์ รวมทั้งความเชื่อที่ว่าคนที่มีลายสักมักจะเป็น นักเลงหัวไม้บ้าง เป็นคนคุกคนตารางมาก่อน แม้แต่ในวงราชการก็กำหนด ห้ามไม่ให้คนที่จะสอบเข้ารับราชการ มีรอยสักยิ่งทำให้การสักค่อยถอยห่าง หายไปจากสังคมไทยมากขึ้น

การสักที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จะเน้นไปที่การสักเพื่อความสวยงาม หรือเป็นงานศิลปะบนเรือนร่างเท่านั้น และได้รับความนิยมทั้งชายและหญิง ซึ่งต่างจากสมัยโบราณ ที่จะมีแต่ผู้ชายเท่านั้นที่จะสักบนร่างกาย และเป็นการสักที่เกี่ยวข้องกับประเพณี ความเชื่อในสังคมไทย

ขอบคุณที่มา http://ประเพณี.net

Scroll to Top