การพระราชกุศลฉลองไตรปี การฉลองไตรนี้ ไม่ปรากฏว่าเป็นธรรมเนียม มีมาแต่ครั้งกรุงเก่าหรือประการใดแต่เป็นธรรมเนียม มีมาในกรุงรัตนโกสินทรนี้แต่เดิม ไม่นับว่าเป็นพระราชพิธี เป็นการพระราชกุศลประจำปี ซึ่งนำมากล่าว ในที่นี้ด้วย เพราะเหตุว่าการฉลองไตรนี้เนื่องอยู่ในพระราชพิธีจองเปรียง และลอยพระประทีป ความประสงค์ของการฉลองไตรนั้น คือว่าพระสงฆ์ซึ่งได้รับยศเป็น ราชาคณะฐานานุกรมเปรียญ พิธีธรรมบางองค์ หรือคิลานภัตร พระทรงรู้จัก พระช่าง สามเณรเปรียญ และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงผนวชเป็นภิกษุก็ดี สามเณรก็ดี เกินกว่าพรรษาหนึ่งขึ้นไป ท่านทั้งปวงนี้ได้พระราชทานไตรจีวรสำรับหนึ่ง ในเวลาเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานพระกฐินทุกปีเมื่อครั้งแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าจอมข้างในแต่งตัวตักบาตร ฉลองไตรนี้ ห่อผ้าห่มนอนตาดและเยียรบับแพรเขียนทอง หรือแต่งตัวต่างๆ ไปอีกก็มีเป็นคราวๆ แต่ไม่เป็นการเสมอตลอดไป ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ แรมค่ำ ๑ เวลากลางคืนมีทรงธรรม พระราชาคณะผู้ใหญ่ ถวายเทศนากฐินทาน อนุโมทนาการพระราชกุศลที่ได้เสด็จไป พระราชทานพระกฐินกัณฑ์ ๑ จีวรทาน อนุโมทนาพระราชกุศลที่ได้พระราชทานไตรปีแก่พระภิกษุสงฆ์ทั้งปวงกัณฑ์ ๑ ปฏิสังขรณทาน อนุโมทนาที่ได้ทรงปฏิสังขรณ์ พระอารามทั้งปวงกัณฑ์ ๑ เครื่องกัณฑ์เทศน์ทั้ง ๓ กัณฑ์ นับในจำนวนเทศนา ๓๐ กัณฑ์ ซึ่งเป็นจำนวนการพระราชกุศลประจำปี คือมีเครื่องกัณฑ์คล้ายๆ บริขารพระกฐิน คือมีตะบะยาเป็นต้น มีเงินติดเทียน ๑๐ ตำลึง และขนมต่างๆ ที่เกณฑ์พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน เป็นเจ้าของกัณฑ์การฉลองไตรนี้ ในรัชกาลก่อนๆ ก็สวดมนต์เลี้ยงพระและเทศนาที่พระที่นั่ง อมรินทรวินิจฉัยตลอดมา ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ย้ายสวดมนต์เลี้ยงพระไปพระที่นั่งฝ่ายบุรพทิศ แต่ยังคงมาทรงธรรม ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เพราะเป็นทางที่จะได้เสด็จลงทรงลอยพระประทีป ในเวลาเมื่อทรงธรรมแล้ว ในปัจจุบันนี้ทรงพระราชดำริเห็นว่าพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่กว้างขวาง ใหญ่กว่าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย จึงโปรดให้การฉลองไตรทั้งปวงคงอยู่ เหมือนเมื่อแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคำตักเตือน ในการฉลองไตรนี้ เมื่อวันขึ้น ๑๓ ค่ำพระสงฆ์ที่สวดมนต์ถึง ๕๐๐ เศษหรือ ๖๐๐ รูป เทียน ซึ่งถวายพระสงฆ์ในเวลาสวดมนต์จบนั้นมาก มหาดเล็กควรจะต้องคอยรับ และเวลาที่พระเจ้าลูกเธอ จะไปถวายควรต้องคอยยกตาม อย่าให้ต้องรั้งรอกันเนิ่นช้าไปอนึ่ง จะต้องเตือนอย่างจืดๆ อีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าเวลาพระสงฆ์ฉันแล้วจำจะต้องยถา จำจะต้องทรงพระเต้าษิโณทก ไม่มีเหตุการณ์อันใดที่จะยกเว้นพระเต้าษิโณทกได้เลย ในเวลาพระสงฆ์ฉันแล้ว ซึ่งมหาดเล็กบางคนทำอึกๆ อักๆ ไม่แน่ใจว่าจะทรงหรือไม่ทรง หรือทอดธุระเสียว่าไม่ทรงนั้นเป็นการเซอะแท้ ไม่มีข้อทุ่มเถียงอย่างไรเลยอนึ่ง ในเวลาเมื่อสวดมนต์จบและเวลาเลี้ยงพระแล้ว มีเสด็จออกขุนนางข้าราชการเฝ้าทูลใบบอกและข้อราชการต่างๆ ได้เหมือนออกขุนนางตามเคยอนึ่ง ในเวลาค่ำที่ทรงธรรมนั้น พอเสด็จออก มหาดเล็กก็ต้องนำเทียนชนวนเข้าไปตั้ง ทรงจุดเครื่องบูชาเทวดาแล้ว ต้องคอยรับเทียนที่บูชาพระมหาเศวตฉัตร ซึ่งจะปล่อยให้ทรงจุดทรงวางในตะบะอย่างเช่นมหาดเล็กเคยทำมาบ่อยๆ นั้นไม่ถูก เมื่อรับเทียนนั้นไปแล้ว เคยไปติดที่บัวหลังพระมหาเศวตฉัตร ซึ่งไม่เห็นมหาดเล็ก ไปติดมาช้านานแล้ว จะไม่มีใครรู้ หรือประการใดสงสัยอยู่ เมื่อทรงจุดเทียนเทวดาแล้วทรงจุดเทียนดูหนังสือ ไม่ต้องรอคอย จนทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ แล้วจึงยกไปให้เป็นการช้ายืดยาวพอทรงจุดแล้วก็ยกไป ถ้าธรรมาสน์กว้าง ตั้งบนธรรมาสน์ทั้งเชิง ถ้าธรรมาสน์แคบมีจงกล ถอนเทียนออกปักที่จงกล ถ้าธรรมาสน์แคบมีม้าตั้งข้างๆ ให้ตั้งบนม้า การที่ถอนเทียนออกติดกับกงธรรมาสน์นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรด ได้กริ้วมาหลายครั้งแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ก็ดูมีรายๆ อยู่บ้างไม่สู้หนานัก ขอให้เข้าใจว่าไม่โปรดเหมือนกัน ที่มา http://vajirayana.org/