การสักบนร่างกาย
การสักลวดลาย เลขอักขระต่างๆ
ลงบนผิวหนัง หรือที่เรียกกันว่าการสักลายหรือสักยันต์
เป็นความเชื่อที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย
หากแต่วัตถุประสงค์ของการสักลวดลายต่างๆ ลงบนผิวหนังก็มาผันแปรไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
จากเดิมเพื่อใช้แสดงกรม กองหรือสังกัดของชายไทยที่รับราชการสนองคุณแผ่นดิน
มาเป็นการสักเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ
ก่อนมาสู่ยุคของการสักลวดลายที่เป็นงานศิลปะบนเรือนร่างหรือเพื่อความสวยงามในปัจจุบันแทน
ความหมายของการสัก
คือการนำเหล็กแหลมจุ่มน้ำหมึก (เรียกสักหมึก) หรือน้ำมัน (เรียกสักน้ำมัน)
แล้วแทงลงที่ผิวหนังเป็นให้เป็นลวดลาย อักขระ เครื่องหมาย เลขยันต์ต่างๆ และคนที่ทำหน้าที่สักยันต์ให้ก็จะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถ
ชำนาญในการสักที่สืบทอดวิชาความรู้ต่อๆ กันมา ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพระสงฆ์หรือผู้อาวุโสที่ร่ำเรียวิชาสักยันต์มา
ปัจจุบันเครื่องไม้เครื่องมือในการสักมีการพัฒนารูปแบบไปไกลมา
จากเหล็กปลายแหลมแท่งยาวๆ กลายเป็นเครื่องมือที่มีหัวเข็มขนาดเล็กแทน
หมึกที่ใช้ก็เป็นหมึกสีต่างๆ ส่วนคนที่ทำหน้าที่สัก ถูกเรียกในฐานะช่างสักมากกว่าครูบาจารย์ในการสัก
การสักยันต์ในสมัยก่อน มีอยู่ ๒
รูปแบบด้วยกัน คือ หนึ่ง มีไว้เพื่อเป็นเครื่องหมายหรือหลักฐานแสดงตัว เช่น
การสักเลกที่ข้อมือของชายหนุ่มเพื่อเป็นการขึ้นทะเบียนตามสังกัด กรมกองต่างๆ
ซึ่งมีหลักฐานว่าการสักเลกนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. ๑๙๙๑ – พ.ศ. ๒๐๓๑)
สอง เป็นการสักตามความเชื่อ
ความศรัทธา ขวัญกำลังใจ เสน่ห์ เมตตามหานิยม แคล้วคลาด ป้องกันภยันอันตรายต่างๆ
แพร่หลายในหมู่ชาวบ้านทั่วไปที่นิยมสักเลกยันต์ต่างๆ ที่หน้าอก แผ่นหลัง
หรือแขน โดยจะมีการประกอบพิธีควบคู่ไปด้วย เช่น ก่อนทำการสักจะต้องทำพิธีไหว้ครู
มีการร่ายเวทมนต์คาถา ลวดลายที่ใช้สักมีให้เลือกแล้วแต่สำนักสัก
ด้วยเหตนี้การสักประเภทนี้แต่ละคนก็จะมีลวดลายไม่เหมือนกัน
ปัจจุบันความเชื่อ
ความศรัทธาในการสักแม้จะมีอยู่แต่ก็ลดน้อยถอยลงไปเป็นจำนวนมาก
เนื่องจากขาดผู้ชำนาญ ผู้สักที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญแท้จริง
ประกอบกับครูบาอาจารย์สักรุ่นเก่าๆ
บางท่านก็ไม่ได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับศิษย์รุ่นหลัง
ทำให้ความรู้ความสามารถสูญหายตายไปพร้อมกับครูบาอาจารย์ รวมทั้งความเชื่อที่ว่าคนที่มีลายสักมักจะเป็นนักเลงหัวไม้บ้าง
เป็นคนคุกคนตารางมาก่อน
แม้แต่ในวงราชการก็กำหนดห้ามไม่ให้คนที่จะสอบเข้ารับราชการมีรอยสักยิ่งทำให้การสักค่อยถอยห่าง
หายไปจากสังคมไทยมากขึ้น
การสักที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะเน้นไปที่การสักเพื่อความสวยงาม
หรือเป็นงานศิลปะบนเรือนร่างเท่านั้น และได้รับความนิยมทั้งชายและหญิง
ซึ่งต่างจากสมัยโบราณที่จะมีแต่ผู้ชายเท่านั้นที่จะสักบนร่างกาย
และเป็นการสักที่เกี่ยวข้องกับประเพณี ความเชื่อในสังคมไทย
ขอบคุณที่มา http://ประเพณี.net